soppong

ประวัติองค์การบริหารส่วนตำบลสบป่อง

      สภาตำบลสบป่องได้จัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลสบป่องตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล ลงวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๓๙ (หน้า ๑๙๕ เล่ม ๑๑๓ ตอนพิเศษ ๕๒ ง ราชกิจจานุเบกษา ๒๕ ธันวาคม ๒๕๓๙) และได้ยกฐานะจากองค์การบริหารส่วนตำบลขนนาดเล็ก เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลขนาดกลาง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๑

ประวิติของตำบลสบป่อง

            หมู่บ้านสบป่อง เป็นหมู่บ้านของชนเผ่าพื้นเมืองภาคเหนือหรือคนล้านนา ผสมกับคนเผ่าไทยใหญ่ (ไต) และคนไทยภาคกลาง แต่เดิมพื้นที่บ้านสบป่องเป็นบริเวณที่มีป่าไม้สมบูรณ์มาก ไม่มีบ้านเรือน หรือผู้คนอาศัยอยู่ เป็นทางผ่านหรือจุดพักแรมของผู้คนที่เดินทาง จากอำเภอปายไปยังตัวจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยการเดินเท้า(เป็นเส้นทางเดียวที่ใช้สัญจร)

          ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้มีชาวบ้านจากอำเภอปายเดินทางเข้ามาล่าสัตว์และหาของป่าและได้พบว่าพื้นที่บริเวณนี้ มีภูมิประเทศที่เหมาะสมกับการเพราะปลูกและอยู่อาศัย เนื่องจากเป็นพื้นที่ราบกว้างและอยู่ใกล้แหล่งน้ำ

          กลุ่มคนกลุ่มแรกที่เข้ามายังบริเวณนี้คือ กลุ่มของนายตั๋น ใหม่ฟู, นายชื่น สุรินทร์,นายหวานตี๊,นายินตา และนายจองจาย กลุ่มคนเหล่านี้ได้อพยพมาจากบ้านทุ่งโป่ง อำเภอปาย เข้ามาตั้งบ้านเรื่อนและบุกเบิกที่ทำกิน ไร่ นา สวน และเลี้ยงสัตว์

          ในปีเดียวกันนี้ สถานีตำรวจภูธรได้เข้ามาตั้งสถานีตำรวจที่บ้านปางมะผ้า ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้านสบป่อง ห่างออกไปประมาณ ๓ กิโลเมตร และตั้งชื่อว่า “สถานีตำรวจภูธรตำบลปางมะผ้า”

คำว่า “ปางมะผ้า” เป็นภาษาไทยใหญ่ (ไต) คำว่า “ปาง” หมายถึง “จุดพักแรม” คำว่า “มะผ้า” แปลว่า “มะนาว” ความหมายของ “ปางมะผ้า” จึงหมายถึง “จุดพักแรมที่มีต้นมะนาวอยู่”

          ในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ มีชาวบ้านจากบ้านแม่เย็น, บ้านแม่ฮี้ อำเภอปาย ซึ่งประกอบด้วยครอบครัวายติ๊บ นวนคำ, นายหลู่ คำฟู, นายจายหลวง คำฟู, นางใบมะลิดวง ได้อพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือน และบุกเบิกที่ทำกิน ไร่ นา สวน และเลี้ยงสัตว์ ที่บริเวณ “ปากไม้แดง”

          ในระหว่างนั้น ชาวบ้านสบป่อง ชาวบ้านปากไม้แดง รวมทังชาวเขาเผ่าต่างๆ ที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง อาทิ บ้านเมืองแพม(เผ่ากระเหรี่ยง) บ้านดอยอ้น บ้านน้ำริน(เผ่าลีซู) ต่างก็ต้องเดินทางไปหาซื้อเครื่องอุปโภค-บริโภค ที่อำเภอปายซึ่งใกล้ที่สุด การเดินทางสัญจรในช่วงนั้นต้องอาศัยการเดินเท้าเป็นหลัก การขนส่งสัมภาระต่างๆ ก็ต้องใช้วัว ม้า หรือแบกหามด้วยคนเป็นส่วนใหญ่เพราะถนนยังไม่มี

          ต่อมาครอบครัวของนายติ๊บ นวนคำ พร้อมญาติพี่น้อง ก็ต้องย้ายออกจากบ้านปากไม้แดงมาอยู่ที่เด่นผา เนื่องจากอยู่ใกล้ที่ทำกินของตนเอง จึงตั้งชื่อว่า (บ้านเด่นผา)

          ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ สถานีตำรวจภูธรปางมะผ้า ได้ย้ายเข้สมาตั้งสถานีที่บ้านสบป่องเนื่องจากที่บ้านปางมะผ้าเป็นบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำ ถูกน้ำท่วมทุกปี เจ้าหน้าที่ตำรวจและครอบครัวก็ต้องย้ายเข้ามาอยู่ที่บ้านสบป่องด้วย คือ ครอบครัวของ จสต.อินสอน ทาคำมา , จสต.ผิน นากน้อย ฯลฯ

          ปี พ.ศ ๒๕๑๗ วันที่ ๕ ธันวาคม ได้ทำการก่อสร้าง “วัด”ขึ้นโดยการริเริ่มของ นายอ่อง อินนุ่ม และเพื่อน โดยนำเงินของตนเองจำนวน ๑๐๐ บาท เป็นทุนในการตั้งองค์ผ้าป่า และขอรับบริจาคสบทบจากชาวบ้าน รวบรวมได้เงินประมาณ ๕๐๐-๗๐๐ บาท เป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้าง ซึ่งชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จนเสร็จแล้ว โดยมีจ่าสีมุ่ย เป็นสล่า (นายช่าง)

          ในปีเดียวกัน ทางกรมป่าไม้ โดยอุตสาหกรรมป่าไม้ ได้รับสัมปทานป่าไม้ในพื้นที่ได้นำคนและช้าง เข้ามาตัดไม้และชักลากเพื่อรวมหมอน ต่อมาจึงได้ทำการตัดถนนจากอำเภอปายเข้ามาถึงบ้านสบป่อง

          ปี พ.ศ.๒๕๑๙ ชาวบ้านปากไม้แดง และบ้านเด่นผาได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่บ้านสบป่องเนื่องจากมีวัดและโรงเรียน สะดวกต่อการทำบุญ และบุตรหลานได้มีโอกาสเรียนหนังสือ

          หลังจากนั้น ก็มีผู้คนอพยพย้ายเข้ามาจากที่ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ทั้งชาวบ้าน และส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ เป็นเหตุให้ชุมชนขยายพื้นที่ออกไปเพิ่มมากขึ้น จนถึงปัจจุบัน

ที่มาของชื่อหมู่บ้าน/ชุมชน

          คำว่า “สบป่อง” เป็นภาษาของไทยใหญ่ คำว่า “สบ” แปลว่า “ปาก” คำว่า “ป่อง” แปลว่า “ทะลุหรือบรรจบ” ฉะนั้น คำว่า “สบป่อง” จึงหมายถึง “จุดที่มีแม่น้ำหรือลำห้วยสองสายไหลมาบรรจบกัน” เรียกว่าสบป่อง (จุดที่ลำห้วยแม่อูมองไหลมาบรรจบกับน้ำลาง)